แพรี่ ด็อก
กระรอกดิน "แพรี่ ด็อก" เห็นศัตรู เสียงเห่าเหมือนสุนัข (ไทยรัฐ)
ปัจจุบันบ้านเรามีสัตว์นำเข้ามาหลายชนิด เพื่อสนองต่อความต้องการกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์แปลก จนแทบกลายเป็นแหล่งศูนย์รวมจากทั่วโลกก็ว่าได้ แหล่งศูนย์รวมที่บรรดานักเลี้ยงจะรู้กันดีหนีไม่พ้น "ตลาดซันเดย์" สวนจตุจักรเรานี่เอง มีทั้ง สัตว์เลื้อยคลาน เลือดอุ่น เลือดเย็น กลุ่มฟันแทะ อย่างกระรอก กระแต ในจำนวนนี้ก็มี แพรี่ ด็อก รวมอยู่ด้วย
...มีรายงานว่าตั้งแต่ปี'47 ทางประเทศสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย ได้สั่งห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายสัตว์ชนิดนี้อย่างเด็ดขาด หลังพบว่า "แพรี่ ด็อก" และ "หนูแกมเบียน" เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรค "ฝีดาษลิง" และแม้จะ มีข้อมูลดังกล่าวออกมา แต่มันก็ยังอยู่ในความสนใจของกลุ่มวัยรุ่นและผู้ที่ชอบเลี้ยงสัตว์แปลก
"แพรี่ ด็อก" (Prairie dog) หรือที่บางคนเรียกว่า "กระรอกหมา" เพราะเวลา ถ้ามันเห็นว่ามีศัตรูมาเยือน จะส่งเสียงเห่าคล้ายสุนัข มีถิ่นกำเนิดที่ทุ่งหญ้าแพรี่ทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ บ้างก็ว่าแท้จริงแล้วถิ่นเดิมมันอยู่ที่ทวีปแอฟริกา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลฟันแทะเช่นเดียวกับพวกกระรอก หนูตะเภา แฮมสเตอร์
แพรี่ ด็อก
และ...ด้วยเพราะดวงตาที่โต ฟัน แข็งแรง รูปหน้ามีส่วนคล้ายกระรอกในบ้านเรา เล็บแหลมคม ขาคู่หน้าแข็งแรง ทำหน้าที่ขุดคุ้ยดิน และจับอาหาร ขนสีน้ำตาลทองนิ่ม หาง ยาว 3-4 นิ้ว มีลักษณะเด่นก็คือปลายหางมีสีดำเป็นเอกลักษณ์ ขนรุงรังสีน้ำตาลทอง หูสั้น เท้ามีสีครีม ขนาดตัวไม่ใหญ่ โตเต็มที่น้ำหนักประมาณ 1-2 กิโล หน้าตาน่ารัก มีความ ซุกซน แสนรู้ เป็นรองจากหมา แมว เฟอเรต จึงทำให้มันได้รับความสนใจ กระทั่งกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงแก้เหงาของมนุษย์...
"แพรี่ ด็อก" มักอาศัยอยู่เป็นฝูงตัวผู้ 1 ตัว/ตัวเมียประมาณ 4 ตัว พร้อมเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปี ตัวเมียใช้เวลาตั้งท้อง 28-32 วัน ตกลูกครอกละประมาณ 4-5 ตัว/ปี ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน สมาชิกใหม่ช่วงวัย อ่อนยังไม่ลืมตาและไม่มีขนขึ้น กระทั่งเข้าสู่สัปดาห์ที่ 6 ดวงตาจึงเริ่มเปิด พวกมันมีความอยากรู้อยากเห็น จนต้องปีนป่ายออกมาสู่โลกภายนอกเพื่อเรียนรู้การมีชีวิตบนดิน
...ในวันว่างมันมักออกมาทักทายหมู่เพื่อนในฝูง ซึ่งเวลาที่เจอกันครั้งแรกจะทักทายกันด้วยการ "ยิงฟัน" แล้ว "แตะ" กัน ซึ่งบางคนมองว่าอาการดังกล่าวเหมือนกับคนเราที่ "จูบ" กัน จากนั้นก็จะช่วยกันทำความสะอาดขนให้กันและกัน หรือไม่ก็ขุดรูใต้ดินทั้งเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและอาหารจำพวกต้น รากรวมทั้งเมล็ดพืชกิน ส่วนการมีชีวิตของพวกมัน จากข้อมูลพบว่าตัวเมียจะอายุยืน 8 ปี ส่วนตัวผู้เฉลี่ยที่ 5 ปี
สำหรับใครที่สนใจอยากมีไว้เป็นเพื่อนต้องถามใจตัวเองก่อนว่า สามารถดูแลมันกระทั่งลมหายใจสุดท้ายในชีวิตของมันได้หรือเปล่า ถ้า "เบื่อง่าย หน่ายเร็ว" แล้วปล่อยให้มันออกมาเพ่นพ่านอย่าง "อิสระเสรีไร้ พรมแดน" ซักวันพวกมันอาจกลายเป็นศัตรูทางการเกษตร ที่บ้านเราก็มีมากเกินพอแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น